简体中文
繁體中文
English
Pусский
日本語
ภาษาไทย
Tiếng Việt
Bahasa Indonesia
Español
हिन्दी
Filippiiniläinen
Français
Deutsch
Português
Türkçe
한국어
العربية
บทคัดย่อ:ปัจจุบันเราเป็นห่วงกันว่าเศรษฐกิจไทยคงจะขยายตัวได้น้อยมากในครึ่งแรกของปีนี้ เพราะมีปัจจัยลบต่างๆ รุมเร้า ได้แก่
ปัจจุบันเราเป็นห่วงกันว่าเศรษฐกิจไทยคงจะขยายตัวได้น้อยมากในครึ่งแรกของปีนี้ เพราะมีปัจจัยลบต่างๆ รุมเร้า ได้แก่
1.ความตื่นตระหนกเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่าที่ยังระบาดอย่างหนัก (แม้ว่าอัตราการเสียชีวิตจะยังต่ำอยู่ที่ประมาณ 2% ของผู้ที่ติดเชื้อ)
2.ปัญหาภัยแล้งที่จะรุนแรงยิ่งขึ้นในไตรมาส 2
3.ปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีอะไรดีขึ้นและน่าจะเป็นปัญหาเช่นนี้ทุกๆ ปี จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่สำคัญ เช่น การใช้รถไฟฟ้าแทนรถที่ใช้เครื่องสันดาปภายใน
4.ความล่าช้าของการผ่านกฎหมายงบประมาณ ซึ่งหวังว่าจะเป็นปัญหาชั่วคราว แต่หากการเมืองขาดเสถียรภาพก็อาจเป็นปัจจัยที่จะกระทบกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลได้อีกบ่อยครั้งในอนาคต
ปัญหาข้อที่ 1 นั้นปัจจุบันคงจะมีผู้รู้เขียนวิเคราะห์อย่างกว้างขวาง เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่กำลังส่งผลกระทบที่รุนแรงมากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลที่ปรากฏนั้น ส่วนใหญ่จะมองว่าน่าจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับกรณีของ SARS ที่มีผลกระทบรุนแรง แต่ในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ไม่น่าจะเกิน 3-5 เดือน เมื่อควบคุมการระบาดของโรคได้ เมื่อค้นพบยารักษาและเมื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันได้ก็จะทำให้สภาวการณ์กลับมาสู่ปกติได้ในเวลาไม่นานมากนัก และหากจีดีพีชะลอตัวลงในไตรมาส 1 ก็จะเร่งตัวในไตรมาส 2 ถึง 4 เพื่อทดแทนผลผลิตที่ลดลงไปได้ส่วนหนึ่ง
ในระหว่างนี้ก็ได้มีการนำเสนอข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวออกมาเป็นระยะ ซึ่งผมก็ขอย้ำว่าเท่าที่ผ่านมานั้นปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่านั้นมีดังนี้
1.แม้จะมีอัตราการเสียชีวิตต่ำแต่การติดเชื้อแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วอย่างมากเพราะผู้ที่ติดเชื้อนั้นในช่วงแรกจะไม่มีอาการไม่สบาย ทำให้มีโอกาสสูงที่จะทำให้ผู้อื่นติดเชื้อตามไปด้วย
2.ผู้ที่เสียชีวิตนั้นเกือบทั้งหมดอายุ 50 ปีขึ้นไปในบางกรณีที่อายุ 30-40 ปีจะเสียชีวิตเพราะมีโรคประจำตัว ทำให้มีภูมิต้านทานต่ำอยู่ก่อนแล้ว
3.ผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วได้แก่ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคปอดอุดตันเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease) เสี่ยงที่จะเสียชีวิตหากติดเชื้อไวรัสโคโรน่า
ผมเชื่อว่าแม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่มขึ้นอีกเป็นพันๆ คนต่อวัน ตลาดหุ้นก็จะไม่ตื่นตระหนกต่อไปอีกแล้ว ตราบใดที่การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศจีน แต่หากมีการแพร่ขยายของโรคนี้อย่างรวดเร็วไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างเร่งตัวในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ตลาดหุ้นจะตื่นตระหนกได้อีกครั้ง
แต่ที่สำคัญคือการมองปัจจัยเสี่ยงนี้ในระยะยาว กล่าวคือจะมีปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ในอนาคตซึ่งคำตอบคือน่าจะมีเกิดขึ้นได้อีก โดยมีนักวิชาการชื่อ Matan Shelomiที่ National University ของใต้หวัน ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่าไวรัสก็จะพยายามหาทางให้ตัวเองอยู่รอดดังนั้นไวรัสที่แพร่ขยายตัวเองได้ง่าย (จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งหรือจากสัตว์ไปสู่คน) โดยที่ไม่ได้ทำให้เจ้าภาพ (host) ล้มตายเร็วเกินไป เช่น ไข้หวัดใหญ่ (ประเภท A และ B) นั้น จะกลับมาทุกปี เป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตปีละ 290,000-650,000 คน (แหล่งข้อมูล: องค์การอนามัยโลก) แต่มนุษย์เราก็ไม่ได้ตื่นตระหนกเพราะอัตราการเสียชีวิตจากการ “ติด” ไข้หวัดใหญ่นั้นต่ำเพียง 0.01% (แต่อัตราการเสีย
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ หากมีไวรัสพันธุ์ใหม่ที่ร้ายแรง มนุษย์ก็จะสามารถคิดค้นหายารักษาและผลิตวัคซีนออกมาป้องกันให้ได้ในที่สุด ดังนั้นไวรัสดังกล่าว (และไวรัสอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน) ก็จะต้องหลบตัวกลับไปแฝงตัวอยู่ในสัตว์ป่า เพราะไม่มีทางที่มนุษย์จะนำเอาวัคซีนไปฉีดป้องกันการระบาดในสัตว์ป่าดังกล่าวได้ดังนั้นความเสี่ยงในอนาคตที่มนุษย์จะต้องเผชิญกับไวรัสเช่นโคโรน่าไวรัส COVID-19คือการที่มีจำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้น มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและต้องเข้าไปแสวงหาบุกเบิกทรัพยากรธรรมชาติแหล่งใหม่ๆ ทำให้มนุษย์ต้องเข้าไปใกล้ชิดกับสัตว์ป่าที่มีไวรัสดังกล่าวแฝงตัวอยู่
สำหรับประเทศไทยนั้นก็มีความชัดเจนมากว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นการพัฒนาไปสู่การพึ่งพาภาคบริการ (การท่องเที่ยว) มากขึ้นและความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรลดลง ซึ่งผมขอสรุปดังปรากฏในตารางข้างล่าง
โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 น่าจะกระทบเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก เพราะในช่วงที่ผ่านมาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนแปลง (โดยไม่ได้ตั้งใจ) ไปสู่การพึ่งพาภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวอย่างมากเกินที่ใครจะคาดเดาได้ เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยที่ไทยต้องเผชิญกับโรค SARS เมื่อ 17 ปีก่อนหน้าในปี 2003 กล่าวคือ
ประเด็นคือในอนาคตนั้นเราจะปล่อยให้เศรษฐกิจไทยเดินไปในทิศทางนี้ต่อไปอีกหรือไม่เพราะสามารถประเมินตัวเลขคร่าวๆ ได้ว่า หากยังต้องการอาศัยการท่องเที่ยวเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ประเทศไทยคงจะต้องรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 20-25 ล้านคนใน 10 ปีข้างหน้า กล่าวคือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจาก 15 ล้านคนในปี 2010 มาเป็น 40 ล้านคนในปี 2019
ดังนั้นหากในอีก10 ปีข้างหน้าไทยจะยังต้องการพึ่งพาการท่องเที่ยว เศรษฐกิจไทยก็คงจะต้องสามารถรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกจาก 40 ล้านคน เป็น 60-65 ล้านคนในปี 2029ซึ่งสัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนอาจจะต้องเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 25% เป็นประมาณ 30-35% (20 ล้านคน) เพราะประเทศจีนจะยังเป็นแหล่งผลิตนักท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดในโลกต่อไปอีก ดังที่เห็นได้จากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นจาก 20 ล้านคนในปี 2003 มาเป็น 150 ล้านคนในปี 2019 ดังนั้นหากจะมีคนจีนท่องเที่ยวทั่วโลกประมาณ 250-300 ล้านคนในปี 2029 (20% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของจีน) การที่จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาประเทศไทยปีละ 20 ล้านคนก็น่าจะเป็นตัวเลขที่สมเหตุสมผลและมีความเป็นไปได้
ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าการต้องรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอีก 20-25 ล้านคนจากฐานปัจจุบันที่ 40 ล้านคนนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ท้าทายการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศเป็นอย่างมาก และที่สำคัญคือ หากรองรับจำนวนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวได้ การท่องเที่ยวก็จะไม่ได้มีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีพลังมากเท่ากับช่วง10-15 ปีที่ผ่านมาเพราะฐานที่โตขึ้นอย่างมาก กล่าวคือในช่วงที่สัดส่วนของกิจกรรมโรงแรมเพิ่มจาก 3.6% ของจีดีพีมาเป็น 6.3% ของจีดีพีในช่วง 2010-2019 นั้น ปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 15 ล้านคนเป็น 40 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้น 166% แต่ในอนาคตหากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 40 ล้านคนเป็น 65 ล้านคนในช่วง 2020-2029 นั้น สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจะเท่ากับ 62.5%เท่านั้น
จะเห็นได้ว่าการตั้งคำถามว่าประเทศไทย (และคนไทย) จะ “หากิน” อย่างไรในอนาคตนั้น เป็นการตั้งคำถามที่ตอบได้ยากและเป็นการตั้งคำถามที่แตกต่างจากแนวทางปัจจุบันคือรัฐบาลทุ่มเทและชี้ชวนให้เอกชนมารีบเร่งลงทุนในอีอีซีโดยมีเมนูให้เลือกมากมาย แต่ผมยังไม่เห็นความชัดเจนว่าทางเลือกที่มีอยู่มากมายนั้น ทางเลือกใดจะเหมาะสมกับศักยภาพของคนไทยหรือของประเทศไทยมากที่สุดและประเทศไทยคงให้ลำดับความสำคัญกับสาขาเศรษฐกิจสาขาใดหรืออุตสาหกรรมประเภทใดการกำหนดลำดับความสำคัญนี้เป็นเรื่องที่ผมเห็นว่าต้องทำเพราะจะเป็นการบังคับให้ต้องประเมินปัจจัยต่างๆและสภาวการณ์อย่างครบถ้วนและถูกต้องจึงจะสามารถนำมาซึ่งข้อสรุปดังกล่าวได้
ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยอาจประเมินสภาวการณ์และศักยภาพแล้วสรุปว่าต้องยอมให้ภาคอุตสาหกรรม ต้องลดความสำคัญในเศรษฐกิจลงต่อไปอีก โดยในอีก 10 ปีข้างหน้าสัดส่วนอุตสาหกรรมต่อจีดีพีอาจต้องเหลือต่ำกว่า 30% ของจีดีพี และอุตสาหกรรมที่จะต้องลดบาบาทลงมากที่สุดคือชิ้นส่วนรถยนต์ เพราะจะมีความต้องการชิ้นส่วนเพื่อรถไฟฟ้า(EV) ลดลงมาก อุตสาหกรรมที่ผลิตถุงพลาสติกและสินค้าขั้นพื้นฐานด้านปิโตรเคมีก็จะต้องลดปริมาณลงเช่นกัน นอกจากนั้นประเทศไทยก็กำลังจะขาดแคลนแรงงานอายุน้อยที่เหมาะกับภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย
แต่ภาคเกษตรนั้นอาจมองได้ว่าจะต้องปรับโครงสร้างอย่างเร่งรีบและตั้งเป้าว่าจะต้องมีสัดส่วนต่อจีดีพีเพิ่มจาก5.7% ในปี 2019 มาเป็น 10% ในปี 2029โดยการปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นผู้ผลิต “clean food for the world”ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในประเทศไทยและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศได้รวมด้วย แต่จะต้องหมายถึงการลดพื้นที่ในการเพาะปลูกข้าว(เพราะใช้ที่ดินและน้ำจำนวนมาก) และคนก็นิยมกินคาร์โบไฮเดรตลดลงอีกด้วย โดยจะเหลือแต่ข้าวคุณภาพสูงและเลือกการผลิตผักและผลไม้และพัฒนาให้มีมาตรฐานด้านสุขภาพสูงที่สุดในโลก นอกจากนั้นอุตสาหกรรม เช่น อ้อยและน้ำตาลก็จะลดความสำคัญลงเช่นกันเพราะผลกระทบต่อสุขภาพทั้งจากการที่น้ำตาลเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนแลการผลิตก็มีผลกระทบในด้านภาวะสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญกันอยู่ในขณะนี้
เพราะประชากรโลกก็แก่ตัวลงและสาขาดังกล่าวน่าจะมีมูลค่าเพิ่มและทำกำไรต่อหัวให้กับประเทศไทยได้มากกว่า นอกจากนั้นการพัฒนาให้ไทยเป็นที่พักพิงให้กับผู้เกษียณอายุในลักษณะsemi-retirement home สำหรับผู้สูงอายุที่ร่ำรวยสามารถมาพักผ่อนที่ประเทศไทยนาน 1-2 เดือนต่อปีในช่วงฤดูหนาวของประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา ก็อาจเป็นโอกาสทางธุรกิจของประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย หมายความว่าจำนวน “นักท่องเที่ยว” ไม่จำเป็นจะต้องเพิ่มขึ้นมากนัก แต่รายได้ต่อหัวจะสามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญครับ
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ:
มุมมองในบทความนี้แสดงถึงมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน สำหรับแพลตฟอร์มนี้ไม่รับประกันความถูกต้องครบถ้วนและทันเวลาของข้อมูลบทความ และไม่รับผิดชอบต่อการสูญเสียใด ๆ ที่เกิดจากการใช้ข้อมูลในบทความ
ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นซิมบับเวเติบโตสูงสุด เนื่องจากมีการพิมพ์เงินออกมามากขึ้นเมื่อเผชิญวิกฤติ เพื่อให้ค่าเงินอ่อนลงและรอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับสหรัฐที่ทำในลักษณะเดียวกัน ซึ่งหลายคนมองว่าเราอาจอยู่ในฟองสบู่ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามในร่างกฎหมายบรรเทาทุกข์ทางเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อวันพฤหัสบดี โดยสั่งจ่ายเช็คกระตุ้นให้บุคคลและครอบครัวที่มีคุณสมบัติตามรายได้และเงินบรรเทาทุกข์จำนวนมากที่จะส่งไปยังเมืองโรงเรียนและธุรกิจต่างๆ
‘เยลเลน’ต่อสายตรงรมว.คลังอินโดฯ หวังกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ (โควิด-19) ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติการณ์ และยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เมื่อใดจะกลับมาฟื้นตัวเต็มที่ พัฒนาการของวัคซีนทำให้เศรษฐกิจโลกดูมีความหวังก็จริง แต่นักเศรษฐศาสตร์ยังมีเรื่องที่น่าห่วง
Vantage
OANDA
IC Markets Global
XM
ATFX
FXTM
Vantage
OANDA
IC Markets Global
XM
ATFX
FXTM
Vantage
OANDA
IC Markets Global
XM
ATFX
FXTM
Vantage
OANDA
IC Markets Global
XM
ATFX
FXTM